กฤษณา อโศกสิน สู่ศิลปินจอแก้ว





“…ดิฉันเขียนนวนิยายที่ไม่มีวันเก่าเพราะเขียนขึ้นมาจากกิเลสของมนุษย์ จึง

ไม่มีวันล้าสมัย เพราะกิเลสไม่มีคำว่าหมด...               


   เจ้าของนามปากกา “กฤษณา อโศกสิน” นักประพันธ์ระดับบรมครูของเมืองไทย โลดแล่นอยู่ในของงานประพันธ์มายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ สร้างนวนิยายอย่างมากมายและถูกนำมาสร้างเป็นละครหลายต่อหลายเรื่อง
        “กฤษณา อโศกสิน” เป็นนามปากกาของนางสุกัญญา ชลศึกษ์ เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2474 เป็นคนกรุงเทพฯ เป็นบุตรคนแรกในจำนวนทั้งหมด 6 คน บิดาเคยรับราชการ เป็นนักการเมือง และทนายความ
        เริ่มต้นการประพันธ์ด้วยวัยเพียง 15 ปี เป็นคนชอบอ่าน ชอบคิด ชอบฝัน ผลงานระยะแรกเป็นครั้งเป็นนักเรียน เป็นงานร้อยกรอง ภายหลังแต่งนวนิยายเรื่องสั้นและยาว มุ่งมั่นจะเป็นนักเขียน มีผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรก 'ของขวัญปีใหม่' ลงในหนังสือ 'ไทยใหม่วันจันทร์' ในนามปากกาว่า 'กัญญ์ชลา' ประมาณปี 2489 สำหรับนามปากกา 'กฤษณา อโศกสิน' นั้นเริ่มใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2501 ด้วยผลงานนวนิยายชื่อว่า 'วิหคที่หลงทาง' ตีพิมพ์ใน 'สตรีสาร' และได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี นามปากกานี้สร้างผลงานออกมาอย่างมากมาย เช่น น้ำผึ้งขม, ระฆังวงเดือน, ชลธีพิศวาส และอีกมากมายกว่าหนึ่งร้อยเรื่อง รวมทั้ง 'ปูนปิดทอง' ที่ทำให้กลายเป็นนักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมอาเซียน(ซีไรท์) ผลงานของกฤษณา อโศกสิน ได้รับการชื่นชมว่าเป็นงานเขียนกระเทาะเปลือกสังคมได้อย่างสะใจ ไม่ว่าจะเป็น ลานลูกไม้, ไฟทะเล, เสื้อสีฝุ่น, รอบรวงข้าว, เรือมนุษย์, ลมที่เปลี่ยนทาง, ฝันหลงฤดู, บุษบกใบไม้ ฯลฯ ผลงานอีกเป็นจำนวนมากได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์และละครทีวี
ใช้นามปากกาเขียนในแนวทางต่างๆดังนี้
        กฤษณา อโศกสิน (เรื่องชีวิตหนัก)
        กัญญชลา (เรื่องชีวิตเบาๆ)
        สุปปวาสา (เรื่องแทรกพุทธศาสนา)
        กระเรียนทอง (เรื่องตลก)
        ญาดา (นวนิยายเรื่องสั้นทั่วไป)
        สไบเมือง (แนวธรรมะ)
รางวัลที่ได้รับ
ได้รับรางวัล สปอ. ( องค์การสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
        เมื่อปี พ.ศ. 2511 จากเรื่อง เรือมนุษย์
        เมื่อปี พ.ศ. 2515 จากเรื่อง ตะวันตกดิน
ได้รับรางวัลชมเชยจากสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือ พ.ศ.2515
        จากเรื่องฝันกลางฤดูฝน
ได้รับรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ได้แก่
        รากแก้ว ปี 2517
        ไม้ผลัดใบ ปี 2519
        ลมที่เปลี่ยนทาง ปี 2520
        บ้านขนนก ปี 2522
        ไฟหนาว ปี 2523
        กระเช้าสีดา ปี 2528
        ภมร ปี 2531
ได้รับรางวัลดีเด่นจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ บุษบกใบไม้ ปี 2529
        ไฟทะเล ปี 2531
        ข้ามสีทันดร ปี 2541
        จำหลักไว้ในแผ่นดิน ปี 2528
ได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ (นวนิยาย) เมื่อปี พ.ศ.2531 
   นามปากกา : กฤษณา อโศกสิน, กัญญ์ชลา
   นางสุกัญญา ชลศึกษ์ เป็นนักประพันธ์สตรีที่ประสบความสำเร็จยอดเยี่ยมในด้านการประพันธ์ นวนิยาย ได้มุ่งมั่นสร้างสรรค์งานด้วยความประณีต แสดงกลวิธีในการเสนอเรื่องตัวละคร ฉาก และแนวความคิดที่อุดมด้วยลักษณะวรรณศิลป์และสุนทรียภาพตามทฤษฎีแห่งการสร้างสรรค์วรรณกรรม ทั้งได้แสดงให้เป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นผู้มีอุดมคติและมีความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะนักประพันธ์ โดยได้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะในเรื่องผลกรรมดีกรรมชั่วของมนุษย์มาประกอบในการสร้างสรรค์ นวนิยาย ทำให้ผลงานได้รับความนิยมอย่างสูงจากประชาชนและวงการวรรณกรรม ดังปรากฏว่า ได้รับรางวัลวรรณกรรมทั้งระดับนานาชาติและระดับชาติหลายต่อหลายครั้ง
ผลงานที่นำมาสร้างเป็นละคร
กฤษณา อโศกสิน มีผลงานมากมาย เช่น
        เลื่อมสลับ ลายลายหงส์ ปีกทอง  ป่ากามเทพ  น้ำเซาะทราย  เมียหลวง  เพลิงบุญ ทรายย้อมสี หลงไฟ  ข้ามสีทันดร ระบำมาร น้ำผึ้งขม ระฆังวงเดือน  ถนนไปดวงดาว  เพลิงกินรี  บ้านขนนก  บาดาลใจ  พระจันทร์หลงเงา ฝ้ายแกมแพร สวรรค์เบี่ยง ความรักแสนกล ตะวันตกดิน เพลงบินใบงิ้ว เรือมนุษย์ เดือนครึ่งดวง ฝันกลางฤดูฝน ไม้ผลัดใบ ดวงตาสวรรค์ วิมานไฟ เสื้อสีฝุ่น ชลธีพิศวาส ไฟในทรวง ฝนหลงฤดู ลานภุมรา ห้องที่จัดไม่เสร็จ ลานลูกไม้ สะพานข้ามดาว วิหคโสภา วิมานไม้ฉำฉา รากแก้ว

นวนิยาย ได้แก่ หนามกุหลาบ วิมานไฟ ฝันกลางฤดูฝน เรือมนุษย์ ตะวันตกดิน ไฟในทรวง บันไดเมฆ ป่ากามเทพ ความรักแสนกล ประตูที่ปิดตาย ปีกทอง ไม้ป่า กระเช้าสีดา เข็มซ่อนปลาย ปูนปิดทอง เนื้อนาง บ้านขนนก บุษบกใบไม้ ลายหงส์ เลื่อมสลับลาย เวิ้งระกำ หลังคาใบบัว เสียงแห่งมัชฌิมยาม ชาวกรง แมลและมาลี จำหลักไว้ในแผ่นดิน ล่องทะเลดาว ฯลฯ

ตัวอย่างผลงานเขียนถูกนำสร้างเป็นละคร




      สวรรค์เบี่ยง เป็นบทประพันธ์ของกฤษณา อโศกสิน ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์แล้วอีก 5 ครั้งโดยครั้งแรก ในรูปแบบภาพยนตร์ นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา กับ เพชรา เชาวราษฎร์ออกฉายเมื่อปี 2513
ถูกนำมาสร้างเป็นละคร ในปี 2514 ทางช่อง 4 (สายัณห์ จันทรวิบูลย์ กับ นันทวัน เมฆใหญ่)
ในปี 2519 ทางช่อง 9 (อัศวิน รัตนประชา กับ เดือนเต็ม สาลิตุล)
ในปี 2531 ทางช่อง 7 (ยุรนันท์ ภมรมนตรี กับ มนฤดี ยมาภัย)
ในปี 2541 ทางช่อง 7 (ดนุพร ปุณณกันต์ กับ สุวนันท์ คงยิ่ง)
และในปี 2551 ทางช่อง 3 (ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ กับ แอน ทองประสม)





    เพลิงบุญ เป็นละครโทรทัศน์ไทย แนว ดราม่า สะท้อนความสัมพันธ์ของชายหญิง จากบทประพันธ์ของ กฤษณา อโศกสิน หรือ สุกัญญา ชลศึกษ์ สร้างเป็นละครโทรทัศน์ 2 ครั้ง
        ครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2539 นำแสดงโดย ฉัตรชัย เปล่งพานิช,บุษกร พรวรรณศิริเวช,บุญพิทักษ์ จิตกระจ่าง,แอน ทองประสม,จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์
        ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2560 ผลิตโดย บริษัท เมคเกอร์ วาย จำกัด นำแสดงโดย ณวัฒน์ กุลรัตนรักษ์,เจนี่ เทียนโพธิ์สุวรรณ,ราณี แคมเปน,หลุยส์ สก็อต



      ข้ามสีทันดร เป็นนวนิยายที่แต่งโดย กฤษณา อโศกสิน ซึ่งเป็นนามปากกาของสุกัญญา ชลศึกษ์ ข้ามสีทันดรได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นในปี พ.ศ. 2540 ข้ามสีทันดรเป็นนวนิยายที่มีเรื่องราวสะท้อนปัญหาครอบครัวที่เป็นอุทาหรณ์ให้สังคมได้ตระหนักถึงโทษพิษภัยของยาเสพติด ผูกแต่งเรียงร้อยเรื่องราวขึ้นมาในรูปนวนิยาย โดยนำการท่องเที่ยวแอฟริกาใต้มาประกอบเป็นฉากในเรื่องซึ่งสอดรับกันอย่างสมเหตุสมผลคล้องจองกันเป็นอันดี
ข้ามสีทันดรสร้างเป็นละครโทรทัศน์ถึง 2 ครั้งด้วยกัน
        ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยผู้จัด สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้ถือลิขสิทธิ์บทประพันธ์เรื่อง ข้ามสีทันดรในนามส่วนตัวเพียงแต่ผู้เดียว ไม่เกี่ยวกับช่อง 7 แต่อย่างใด เขียนบทโทรทัศน์โดย ศัลยา สุขะนิวัตติ์ กำกับการแสดงโดย สุชาติ ทับแป้น ละครเรื่องนี้ถือเป็นการเล่นละครโทรทัศน์ครั้งแรกของ ธีรภัทร์ สัจจกุล ในบทบาทสุดท้าทาย ประกบคู่กับนางเอก สุวนันท์ คงยิ่ง ร่วมด้วย จักรกฤษณ์ คชรัตน์, ทรงสิทธิ์ รุ่งนพคุณศรี, ดวงดาว จารุจินดา, ดวงตา ตุงคะมณี, วันชัย เผ่าวิบูลย์, พอเจตน์ แก่นเพชร ออกอากาศปี พ.ศ. 2542 ทาง ช่อง 7
        นำกลับมาสร้างใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2561 โดย บริษัท จันทร์ 25 จำกัด มอบทีมผลิต เพ็ญพุธ เขียนบทโทรทัศน์โดย กู๊ดโฮป กำกับการแสดงโดย อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร แล้วเป็นการพลิกบทบาทครั้งสำคัญของ ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ, พชร จิราธิวัฒน์, ศิรินทร์ ปรีดียานนท์, ร่วมด้วย เพ็ญพักตร์ ศิริกุล, นพพล โกมารชุน, อริศรา วงษ์ชาลี, ธนากร โปษยานนท์ 




      เมียหลวง บทประพันธ์ของกฤษณา อโศกสิน เป็นโครงเรื่องเกี่ยวกับสามีและภรรยาครอบครัวหนึ่ง ที่เพียบพร้อมไปด้วยฐานะ หน้าตา และชื่อเสียง ซึ่งมีแต่คนชื่นชมว่าเป็นคู่ที่น่าอิจฉาและเหมาะกัน แต่ภายในครอบครัวนี้กลับมีแต่ปัญหามากมายที่เกิดจาก ดร.อนิรุทธิ์ ผู้เป็นสามี ที่มีนิสัยเจ้าชู้และมีอนุภรรยามากมาย และผู้ที่คอยรับรู้และเสียใจกับพฤติกรรมของสามีอย่างที่สุด ก็คือ ดร.วิกันดา ภรรยา ปัญหาหนักเริ่มพอกพูนมากขึ้น เมื่อผู้หญิงที่ชื่อ อรอินทร์ เข้ามาแทรกกลางระหว่างชีวิตคู่ของทั้งคู่
เมียหลวง ถูกนำมาสร้างละครถึง 7 ครั้ง
        ครั้งแรก พ.ศ. 2512 ละคร ช่อง 4
        ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2521 ภาพยนตร์สี 35 มม. เสียงพากย์ในฟิล์ม
        ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2524 ละคร ช่อง 5
        ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2532 ละคร ช่อง 7
        ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2542 ละคร ช่อง 3
        ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2552 ละคร ช่อง 7
        ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2560 ละคร ช่อง 3


        น้ำเซาะทราย เป็นนวนิยายบทประพันธ์โดย กฤษณา อโศกสิน นักเขียนรางวัลซีไรท์และศิลปินแห่งชาติ ตีพิมพ์เป็นตอนๆ โดยพิมพ์ฉบับรวมเล่มครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512 เป็นนิยายที่สะท้อนปัญหาครอบครัวและการต่อสู้ของผู้หญิงเพื่อเรียกร้องสิทธิความชอบธรรม และทำให้เห็นภาพอันชัดเจนของคนที่ผิดศีล คือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสามีคนอื่น มีคำโปรยว่า "ความรักเป็นเรื่องของจิตใจและความรู้สึกเป็นเรื่องที่ไม่มีขอบเขต ไม่มีเหตุผล เป็นความละเอียดอ่อนที่ไม่อาจหยุดยั้งข้ดขวาง แล้วถ้าความรักกลายเป็นสงคราม กลายเป็นเม็ดทรายที่ซึมซับ ความชาชินเบื่อหน่ายไว้จนเกินกำลัง อวสานของความรักบทนั้นจะเป็นอย่างไร
        โดยเป็นเรื่องราวครอบครัวของ ภีม และ วรรณรี มีลูก 2 คนชายและหญิงชื่อ ปอ และ ป่าน ภีมเป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมาย วรรณรีเป็นคุณครูที่เคร่งครัดกับระเบียบวินัย และที่สำคัญมั่นใจในตัวเองสูง เธอคิดว่าเธอไม่เคยทำอะไรผิด และมันก็เปลี่ยนไปเมื่อ พุดกรอง ก้าวเข้ามาในชีวิต ทำให้เกิดปัญหาครอบครัว
ถูกนำมาสร้างละครถึง 7 ครั้ง
        ครั้งแรก พ.ศ. 2516 ละครช่อง
        ครั้งที่ 2 พ.ศ. 2516 ภาพยนตร์ 16 มม.
        ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2522 ละคร ช่อง 5
        ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2529 ภาพยนตร์ 35 มม.
        ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2536 ละคร ช่อง 7
        ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2544 ละคร ช่อง 3
        ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2560 ละคร ช่อง 7


ที่มา 
https://www.thairath.co.th/content/506363
https://www.noknoi.com/magazine/series.php?id=1654
https://www.posttoday.com/social/general/510643      

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

นางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์

ประวัติวรรณคดีไทย สมัยสุโทัย (ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง)

มัทนะพาธา ตำนานรักดอกกุหลาบ