มัทนะพาธา ตำนานรักดอกกุหลาบ


     พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงพระราชนิพนธ์ พ.ศ. ๒๔๖๖ เป็นละครพูดคำฉันท์เล่มแรกในวรรณคดีไทย แบบเหมือนนาฏวรรณคดีสันสกฤต เหมาะสำหรับอ่านยิ่งกว่าแสดงบนเวที ฉากและท้องเรื่องทั้งหมดเป็นสมัยภารตะโบราณ เนื้อเรื่องทั้งหมดทรงคิดขึ้นเอง ทรงเล่าตำนานของดอกกุหลาบตามที่ทรงคิดเอง ชื่อเรื่องมัทนะ แปลว่าความมึนเมา พาธาแปลว่า ความเจ็บไข้ความเดือดร้อนรวมแปลว่าความลุ่มหลงทำให้เกิดทุกข์หรือความรักทำให้เป็นทุกข์
ความมุ่งหมาย เพื่อสำหรับใช้อ่านและแสดงละคร
ทำนองแต่ง เป็นบทละครพูดคำฉันท์ คือมีทั้งกาพย์ ฉันท์ และมีบทสนทนาแทรก กาพย์ที่ใช้ทั้งยานี ๑๑ ฉบัง ๑๖ สุรางคนางค์ ๒๘ ฉันท์มีหลายชนิด


เนื้อเรื่อง แบ่งเป็น ๒ ภาค คือภาคสวรรค์ และภาคพื้นดิน ภาคสวรรค์กล่าวถึงสุเทษณ์เทพบุตรหลงรักนางฟ้าชื่อมัทนา แต่นางไม่ยินยอมจึงสาปให้นางลงมาเกิดเป็นดอกกุหลาบ ถึงเวลาคืนวันเพ็ญจะกลายร่างเป็นหญิงได้ครั้งหนึ่ง ถ้าเกิดความรักและแต่งงานใครจึงจะพ้นคำสาป ถ้าทนทุกข์ทรมานเพราะความรักให้อ้อนวอนสุเทษณ์จึงจะพ้นโทษ พระฤๅษีชื่อกาละทรรศิน พระกาละทรรศินเล็งญาณรู้จึงขุดไปปลูกไว้ใกล้อาศรม
       ท้าวชัยเสนกษัตริย์เมืองหนึ่งเสด็จประพาสป่าไปพักใกล้อาศรมพระกาละทรรศินในคืนวันเพ็ญได้พบนางมัทนาเกิดความรักซึ่งกันและกัน ได้ขอนางแต่งงาน นางก็พ้นสาปไปอยู่ในวังกับท้าวชัยเสน นางจัณฑีมเหสีเดิมทราบจึงหึงหวง ถึงกับส่งขาวไปถึงท้าวมคธผู้บิดาให้ยกกองทัพมาตีเมืองท้าวชัยเสน และใส่ความว่ามัทนาทำเสน่ห์และเป็นชู้กับศุภางค์นายทหารเอกของท้าวชัยเสน ท้าวชัยเสนพิโรธมากจึงให้นำตัวนางมัทนากับศุภางค์ไปประหาร แล้วพระองค์ก็ยกทัพออกตีทัพท้าวมคธแตกไปฆ่าท้าวมคธ พราหมณ์ผู้ทำเสน่ห์มาสารภาพความจริงว่า สองคนบริสุทธิ์ตัวเขาถูกนางจัณฑีใช้ อำมาตย์กราบทูลว่าศุภางค์ในที่รบส่วนมัทนาเข้าป่าไป ท้าวชัยเสนจึงรีบตามนางมัทนาไป
       นางมัทนากลับมาถึงป่าก็ทำพิธีอ้อนวอนสุเทษณ์ให้ช่วยให้นางมีความสุขกับท้าวชัยเสน สุเทษณ์จึงสาปให้นางเป็นต้นกุหลาบตลอดไป ชัยเสนถึงก็พบนางมัทนากลายเป็นดอกกุหลาบไป พระองค์จึงนำกุหลาบนั้นกลับเมืองด้วยความเศร้าสลดพระทัยอย่างยิ่ง
คุณค่า
๑. เนื้อเรื่อง เรื่องสนุกแปลกเป็นเรื่องที่ผู้ทรงพระราชนิพนธ์ คิดโครงเรื่องเอง ใช้คำฉันท์ซึ่งเป็นของยากในการแต่ง แต่ก็สามารถเรียบเรียงได้ดีเร่องเป็นแบบโศกนาฏกรรม ผู้อ่านจะสลดใจเมื่ออ่านจบ จะได้เห็นว่าความรักไม่ใช่มีแต่ความสุขสดชื่นอย่างเดียว พิษของความรักนั้นร้ายกาจเกินที่ใครจะคาดคิด
๒. ทำนองแต่ง เรื่องนี้ใช้ฉันท์มากมายหลายชนิด แต่พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถเลือกฉันท์ให้เหมาะกับบทบาทของเนื้อเรื่อง และการใช้ถ้อยคำในฉันท์ มีลักษณะความไพเราะของร้อยกรองพร้อมมูล
        ๒.๑ ในการเลือกใช้ถ้อยคำ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงนิยมใช้คำง่าย ถ้าคำใดต้องการออกเสียงอะ จะทรงประวิสรรชนีย์ ตัวอย่าง
                ยิ่งยลวะนิดา                ละก็ยิ่งจะร้อนคล้าย
                เพลิงรุมประชุมภาย        ณ อุราบลาลด
                พิศไหนบมีทราม            วะธุงามสง่าหมด
                จนสุดจะหาพจน์            สรเสริญเสมอใจ
       ๒.๒ การเล่นคำสัมผัส ซึ่งช่วยให้คำประพันธ์เกิดความไพเราะ ในเรื่องมัทนะพาธา ตอนที่สุเทษศ์เกี้ยวพาราสีนางมัทนาซึ่งถูกสะกด เป็นการซ้ำคำให้เกิดความไพเราะและความดีด้วย
สุเทษณ์      รักจริงมิจริงฤก็ไฉน        อรไทยบแจ้งการ
มัทนา         รักจริงมิจริงก็สุระชาญ    ชยะโปรดสถานใด
สุเทษณ์      พี่รักและหวังวธุจะรัก      และบทอดทิ้งไป
มัทนา         พระรักสมัครณพระหทัย ฤจะทอดจะทิ้งเสีย
สุเทษณ์      ความรักละเหี่ยอุระระทด เพราะมิอาจจะคลอเคลีย
มัทนา         ความรักระทดอุระละเหี่ย ฤจะหายเพราะเคลียคลอ
สุเทษณ์      โอ้โอ๋กระไรนะมะทะนา    บมิตอบพะจีพอ
มัทนา         โอ้โอ๋กระไรอะมระง้อ      มะทะนามิพอดี
        ๒.๓ การบรรยาย การพรรณนา ให้เกิดจินตภาพมีอยู่มากมายหลายตอน เช่น ตอนสุเทษณ์ พรรณนาโฉมนางมัทนา
                งามผิวประไพผ่อง          กลทาบศุภาสุพรรณ
                งามแก้มแฉล้มฉัน          พระอรุณแอร่มละลาน
                งามเกศะดำขำ              กลน้ำ ณ ท้องละหาน
                งามเนตรพินิศปาน         สุมณีมะโนหะรา
       ๒.๔ การเปรียบเทียบ ในเรื่องนี้มีหลายตอนที่เป็นความเปรียบที่คมคาย แทรกข้อคิด เช่น ตอนพรรณนาถึงกวาง เป็นการเปรียบแนวตะวันตก
                ขนองสนิธดำ                ดุจะเขียนเขม่ายาว
                งามทรวงสะอาดราว       หิมะตก ณ ยอดผา
ตอนที่พระกาละทรรศิน พูดกับศุภางค์ถึงอานุภาพของความรัก
                ความรักเหมือนโรคา       บันดาลตาให้มืดมน
                ไม่ยินและไม่ยล             อุปะสัคคะใดๆ
                ความรักเหมือนโคถึก      กำลังคึกผิขังไว้
                ก็โลดจากคอกไป            บยอมอยู่ ณ ที่ขัง
                ถึงหากจะผูกไว้             ก็ดึงไปด้วยกำลัง
                ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง             บหวนคิดถึงเจ็บกาย
๓. ให้ความรู้ด้านต่างๆ เช่นการแต่งงานตามพิธีพราหมณ์ ให้คติเกี่ยวกับความรักด้วยความดีต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้จึงพิจารณาได้ว่าบทละครคำฉันท์เรื่องมัทนะพาธา มีคุณค่าสมควรได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นบทละครพูดคำฉันท์ชั้นเยี่ยม
                                                            ที่มา ชำนาญ รอดเหตุภัยและคณะวรรณคดีและประวัติวรรณคดี

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

นางนพมาศ หรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์

ประวัติวรรณคดีไทย สมัยสุโทัย (ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง)